เพราะผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์จะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ประสิทธิภาพในการคิดเสื่อมถอย ความจำบกพร่อง บางรายถึงกับ ไม่ยอมรับประทานอาหารขณะที่บางรายต้องการรับประทานอาหารตลอดทั้งวัน ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระได้ ซ้ำรายอาจมีอาการประสาทหลอนหรือหลงละเมอจนไม่สามารถใช้ชีวิตเพียงลำพังได้ ลูกหลานหรือญาติจึงต้องหาผู้ดูแลมาคอยช่วยเหลือผู้ป่วยอัลไซเมอร์
และเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยโรคดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผู้ดูแลจำเป็นต้องรู้เคล็ดลับที่สำคัญ เริ่มมีความรู้ความเข้าใจโรคอัลไซเมอร์อย่างลึกซึ้งโดยเฉพาะอาการของโรค มีความอดทนสูง เนื่องจากผู้ป่วยจะมีอารมณ์แปรปรวน ผู้ดูแลจึงต้องเป็นคนใจเย็นและรู้จักการยืดหยุ่น อย่าต่อว่า หรือดุด่าผู้ป่วย เพราะจะทำให้เขาเกิดปัญหาทางอารมณ์มากยิ่งขึ้น
ผู้ดูแลต้องเป็นคนช่างสังเกตให้รู้ว่า สิ่งใดเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาทางอารมณ์ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ป่วยมีอารมณ์แปรปรวนรุนแรง ตลอดจนการมีอารมณ์ขันช่วยลดความรู้สึกเครียดทั้งตัวผู้ป่วยและผู้ดูแล
ส่วนเทคนิคการสื่อสารกับผู้ป่วยสมองเสื่อม ต้องทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าผู้ดูแลมีสัมพันธภาพที่ดี ทั้งจากสายตา น้ำเสียง ท่าทาง การสัมผัส ในการพูดคุยจำเป็นต้องเลือกใช้คำง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน พูดช้า ๆ พูดชัด ๆ ในประโยคสั้น ๆ เป็นคำพูดที่สุภาพ ขณะพูดคุยควรสบตาผู้ป่วย ลดสิ่งรบกวน เช่น เสียงดังจากวิทยุ ทีวี เพื่อให้ผู้ป่วยมีสมาธิในการสื่อสาร
เรียกชื่อผู้ป่วยบ่อย ๆ เพื่อเป็นการเตือนความจำ พยายามพูดคุยถึงเรื่องราวดี ๆ ในอดีตมาถึงปัจจุบันที่ผู้ป่วยคุ้นเคยจะได้มีการพูดโต้ตอบ และควรตอบคำถามอย่างช้า ๆ และใช้คำที่เข้าใจได้ง่าย ๆ กรณีที่ผู้ป่วยมักถามคำถามซ้ำ ๆ ให้ผู้ดูแลเบี่ยงเบนความสนใจไปสู่เรื่องอื่น ๆ โดยไม่ควรล้อเลียนคำพูดหรือพฤติกรรมของผู้ป่วย
หากครอบครัวใดให้คนในบ้านเป็นผู้ดูแล ควรหมุนเวียนกันทำหน้าที่ อย่าให้อยู่ในความดูแลของคนใดคนหนึ่งเพียงผู้เดียว เพราะผู้นั้นอาจเกิดความรู้สึกเครียดขึ้นได้.
ที่มา:http://variety.teenee.com/foodforbrain/28491.html
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น