รู้ทันภัย 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์'
ปลอมเบอร์โทรหลอกโอนเงิน!
"แก๊งคอลเซ็นเตอร์” กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในปัจจุบัน โดยหลายรายที่ ตกเป็นเหยื่อต่างสูญเงินไปกับกลโกงมากมายมหาศาล แต่เมื่อภาครัฐเร่งจับและให้ความรู้กับประชาชน กลุ่มมิจฉาชีพกลับใช้อุบายในการปลอมเบอร์ของทางราชการหรือธนาคารเพื่อหลอกประชาชนให้หลงเชื่อ!! การหลอกเหยื่อโดยใช้การโทรฯผ่าน เครือข่าย “วีโอไอพี” โดยการปลอมเลขหมายหน่วยงานราชการและธนาคารเริ่มมีความแพร่หลายอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นประชาชนควรมีความรู้เพื่อป้องกันตนเองจากกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่หลอกให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มมีมานานแล้ว แต่มีการพัฒนารูปแบบการหลอกใหม่ ๆ ขึ้น ล่าสุดได้มีการนำระบบ “วีโอไอพี” ของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มาดัดแปลง ด้วยการป้อนข้อมูลเบอร์โทรฯของหน่วยงานราชการและธนาคาร เพื่อให้เลขหมายดังกล่าวไปปรากฏขึ้นบนจอมือถือของผู้รับ เพื่อให้ผู้รับไม่ได้ระวังตัวเนื่องจากเป็นเลขหมายของสถานที่ราชการ ในอีกกรณีหนึ่ง มิจฉาชีพจะโทรฯมาโดยไม่แสดงเลขหมายบนมือถือผู้รับ หรือเบอร์เลขหมายที่มีมากกว่าปกติเหมือนกับเบอร์โทรฯต่างประเทศโทรฯเข้ามา เพื่อไม่ให้เหยื่อโทรฯติดต่อได้ง่าย “ระบบวีโอไอพี” พัฒนาขึ้นบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อการสื่อสารที่ มีราคาถูกลง โดยต้นสายสามารถคุยผ่านไมโครโฟนที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ไปยังปลายสายที่เป็นคอมพิวเตอร์ด้วยกันหรือโทรศัพท์ปลายทาง โดยส่วนใหญ่จะใช้ในการโทรฯจากต่างประเทศมาไทย เมื่อโทรฯมาจะมีผู้ให้ ใช้บริการในไทยเชื่อมต่อสัญญาณไปยังมือถือปลายสาย การใช้วีโอไอพีเพื่อหลอกลวงส่วนใหญ่ บรรดาแก๊งมิจฉาชีพจะใช้วิธีตั้งออฟฟิศขึ้นในต่างประเทศเพื่อที่จะโทรฯมาหลอกคนไทย ขณะเดียวกันคนต่างชาติก็มาตั้งออฟฟิศเพื่อโทรฯหลอกคนประเทศตนเองในไทย แก๊งเหล่านี้น่าจะเป็นเครือข่ายเดียวกัน ด้วยพฤติกรรมการหลอกและการทำงานมีความใกล้เคียงกัน ดังนั้น ประชาชนทั่วไปไม่ควรโทรศัพท์ขณะกดเอทีเอ็ม เนื่องจากมิจฉาชีพจะหลอกเพื่อให้ไปกดเอทีเอ็มแล้วพูดให้เหยื่องง จนหลงเชื่อกดโอนเงินไปยังบัญชีคนร้าย หรือในบางกรณีคนร้ายเร่งเพื่อให้เหยื่อกดตามคำสั่งจนไม่ได้อ่านตัวอักษรบนตู้ เอทีเอ็ม ไม่ว่าหน่วยงานใดก็ตามไม่มีนโยบายให้โทรศัพท์ไปด้วยกดเอทีเอ็มไปด้วย หากประชาชนเจอสถานการณ์ในกรณีดังกล่าวให้สังหรณ์ใจไว้ว่ากำลังถูกหลอก บางประเทศมีนโยบายไม่ให้โทรศัพท์ขณะกดเอทีเอ็มเพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยเมื่อเข้าใกล้ตู้เอทีเอ็มจะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ในบางกรณีเหยื่อก็หลงเชื่อมิจฉาชีพที่โทรฯมาโดย ใช้เบอร์หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พอเหยื่อโทรฯกลับไปสอบถามก็พบว่า มีคนดังกล่าวอยู่ในหน่วยงาน แต่ไม่ได้คุยสาย พอหลังจากนั้นมิจฉาชีพจะโทรฯมาอีกครั้งแล้วให้เหยื่อโอนเงิน หากหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว ควรเก็บสลิปที่ออกมา จากตู้เอทีเอ็มและโทรฯไปยังธนาคารเพื่อระงับการทำธุรกรรมภายใน 2-3 นาที หลังจากโอนเงิน ในอนาคตตำรวจและธนาคารควรมีเบอร์โทรฯกลางเพื่อแจ้งในการระงับการทำธุรกรรมและสืบหาตัวผู้กระทำผิดได้อย่างทันท่วงที กลวิธีที่มิจฉาชีพนิยมนำมาหลอกเหยื่อคือ 1.โทรฯสุ่มโดยไม่เลือก โดยใช้คอลเซ็นเตอร์ ที่อัดเทปเกลี้ยกล่อม ให้เหยื่อกดต่อไปยังพนักงานแล้วทำการหลอกให้โอนเงิน
2.มิจฉาชีพจะทำการโทรฯมาก่อนเพื่อหลอกให้ตอบคำถาม เช่น เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน ชื่อ-นามสกุล และเลขที่บัญชีธนาคาร หลังจากนั้นจะมีอีกสายโทรฯมาบอกว่า โทรฯมาจากหน่วยงานต่าง ๆ และสามารถบอกเลขที่บัญชีธนาคารและชื่อจริงตามที่มิจฉาชีพรายแรกได้โทรฯมาสอบถามก่อนแล้วซึ่งพอเหยื่อได้รับสายที่สองจะหลงเชื่อเพราะรู้ข้อมูลส่วนตัว แต่แท้ที่จริงทั้งสองสายเป็นแก๊งมิจฉาชีพ! “สิ่งที่ต้องเร่งทำตอนนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความรู้กับประชาชน และเตรียมเชิญผู้ให้บริการวีโอ ไอพีในไทยวางระบบเพื่อป้องกันการปลอมเบอร์โทรฯ โดยผู้ที่กระทำผิดมีโทษทางกฎหมายเกี่ยวกับการฉ้อโกง ซึ่งหากท่านตกเป็นเหยื่อควรแจ้งตำรวจเพื่อเร่งดำเนินคดี หรือโทรฯมาที่สายด่วน 1200 หรือสายด่วน 1155 และสายด่วน 1135 โดยจะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง” ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ ผู้อำนวยการโปรแกรมเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคง ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ให้ความเห็นตรงกันว่า เวลาโทรศัพท์ไม่ควรกดเอทีเอ็มเพราะไม่มีหน่วยงานใดให้โทรศัพท์ไปด้วยกดเอทีเอ็ม ไปด้วย ดังนั้นในเบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรออกหนังสือเตือนให้ประชาชนและคนในหน่วยงานทราบ เนื่องจากถ้าตกเป็นเหยื่อไปแล้วย่อมสร้างความเสียหายต่อตนเอง การป้องกันด้วยการสร้างโปรแกรมป้องกันเบื้องต้นอาจต้องใช้เวลาและ ผู้ให้บริการต้องทำความเข้าใจกับผู้ใช้อย่างถี่ถ้วน “วีโอไอพีเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ค่าใช้จ่ายต่ำ ซึ่งถ้าต้องการควบคุมพฤติกรรมของกลุ่มมิจฉาชีพไม่ควรสร้างผลกระทบต่อผู้ใช้บริการที่มีความจำเป็น จริง ๆ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมานั่งคุยกันเพื่อพัฒนาระบบไม่ให้มีการ ปลอมแปลงเบอร์” อนาคตน่าจะมีการหลอกลวงโดยใช้ชื่อคนที่มี ชื่อเสียงมากขึ้น ซึ่งหากใครได้รับโทรศัพท์ที่อ้างว่า มาจากหน่วยงานและผู้ที่มีชื่อเสียงให้โอนเงินไม่ควรหลงเชื่อ! ขึ้นชื่อว่า “เทคโนโลยี” นอกจากจะมีคุณประโยชน์แล้วยังมีโทษ ดังนั้นประชาชนควรระแวดระวังเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อรายต่อไปของกลุ่มมิจฉาชีพ.
วีโอไอพี คืออะไร?
วีโอไอพี (VoIP) ย่อมาจาก วอยส์โอเวอร์ไอพี (Voice over Internet Protocol) เป็นการสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หรือโครงข่ายอื่น ๆ ที่ใช้อินเทอร์เน็ตโพรโทคอล สัญญาณเสียงจะถูกตัดแบ่งเป็นแพ็กเกจวิ่งผ่านไปบนโครงข่ายที่ใช้สำหรับการสื่อสารข้อมูลทั่วไป แทนการใช้วงจรเฉพาะตามวิธีการสื่อสารในระบบโทรศัพท์แบบดั้งเดิม เปรียบได้กับการให้รถยนต์วิ่งแทรกกันได้ตามช่องว่างที่มีอยู่ของถนน แทนการให้รถยนต์คันเดียวจองถนนวิ่งแบบผูกขาด ข้อดีของวีโอไอพีก็คือการสามารถใช้โครงข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถให้บริการได้ในอัตราค่าบริการที่ถูกลงมาก ในการใช้บริการวีโอไอพี ผู้ใช้บริการจะต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก่อน หลังจากนั้น สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า ซอฟต์โฟน และไมโครโฟนกับหูฟัง เพื่อพูดคุยกับปลายทางได้ ในปัจจุบัน มีอุปกรณ์ที่เรียกว่า อะนาล็อกเทเลโฟน อะแด็ปเตอร์ เข้ามาแทนการใช้คอมพิวเตอร์ ต่อกับอินเทอร์เน็ต และใช้เครื่องโทรศัพท์อะนาล็อกที่ใช้งานตามบ้านหรือสำนักงานทั่วไปในการโทรศัพท์แบบวีโอไอพีได้ ทำ ให้ได้รับความสะดวก และมีความรู้สึกไม่แตกต่างจากการใช้โทรศัพท์แบบดั้งเดิม การใช้งานวีโอไอพี สามารถใช้งานได้ทั้งในการโทรศัพท์ถึงปลายทางที่เป็นวีโอไอพีเช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีการเก็บค่าบริการ แต่ทั้งสองข้างจะต้องออนไลน์พร้อมกัน หรือจะโทรฯไปยังปลายทางที่เป็นหมายเลขโทรศัพท์ปกติ ทั้งโทรศัพท์ประจำที่ หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ได้ ในกรณีนี้จะต้องมีการสมัครเป็นสมาชิกของบริการและชำระค่าบริการล่วงหน้า แต่ค่าบริการจะถูกกว่าการโทรศัพท์ปกติมาก. |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น