วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ทำอย่างไรเมื่อคุณไม่มีความสุขในการทำงาน

หลาย ๆ คนอาจจะเกิดความเครียดและเบื่อหน่ายกับงานที่ทำอยู่นะคะ ก็มีหลายคนได้มาปรึกษาปัญหาเรื่องงานบ้าง ก็อยากจะลาออก และบ้างก็ถามว่าแล้วจะปรับตัวอย่างไรหากเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายกับงานที่ทำอยู่

อยากจะฝากข้อคิดไว้ประการหนึ่งนะคะว่า ถ้าหากมีอิสรภาพทางการเงินซึ่งหมายถึงว่า การที่มีเงินที่ใช้สอยได้ไม่เดือดร้อนแล้วก็ “สามารถเลือกที่ทำในสิ่งที่คุณรัก” แต่ถ้าหากยังมีเงินไม่พอที่จะใช้จ่ายแล้ว “ก็
ต้อง (พยายาม) รักในงานที่ทำ”

การจะรักในงานที่ตนเองทำอยู่นั้นอาจจะเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำได้ยาก และเห็นคน วัยหนุ่มสาวในปัจจุบันจะมีความอดทนค่อนข้างต่ำ พอรู้สึกไม่พอใจ/ไม่ถูกใจกับงานหรือกับคนร่วมงานก็จะคิดจะลาออก

การลาออกไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา เพราะจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของตัวเอง หรือคนที่รู้จัก ทั้งที่เป็นเพื่อนฝูงและญาติพี่น้อง ก็ได้ยินทุกคนบ่นถึงปัญหาในที่ทำงานของตนเองแทบทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน ราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ ธุรกิจเอกชน เพียงแต่ปัญหาจะมากจะน้อยเท่านั้น ดังนั้นการย้ายงานจากหน่วยงานหนึ่งไปยังอีกหน่วยงานหนึ่ง ก็จะเผชิญกับปัญหาในอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง

ดังนั้นการที่จะทำใจให้รักกับงานก็คงจะต้องพยายามคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้

(1) ความจำเป็นของรายได้สำหรับมาเลี้ยงตนเองและสมาชิกในครอบครัว
เพราะการมีรายได้สำหรับเลี้ยงตนเอง ทำให้ตนเองอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น การจะต้องพึ่งพาคนอื่นที่แม้จะเป็นญาติพี่น้องแล้ว อาจจะเป็นไปได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวหรือเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น นอกจากพ่อแม่แล้ว คนที่จะมารับภาระ หรืออุปถัมภ์เราตลอดไป คงจะเป็นไป ได้ยาก

ดังนั้นอย่าด่วนผลุนผลันลาออกจากงาน ควรจะตริตรองดูว่าอะไรคือปัญหาเกิดจากตัวเรา เกิดจากเพื่อนร่วมงาน หรือ เกิดจากระบบ และวัฒนธรรมขององค์กร และพิจารณา ดูว่า เราจะสามารถปรับตัวเราได้หรือไม่ เราไม่สามารถปรับเปลี่ยนเจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานได้ ถ้าเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะปรับตนเองได้ จึงตัดสินว่าขั้นสุดท้ายถึงการลาออก ก่อนจะลาออกก็ท่องสโลแกนที่เคยฮิตในยุคหนึ่งว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” พยายามท่องไว้ให้ขึ้นใจ

(2) ให้เห็นคุณค่าของงาน ทั้งนี้งานอาชีพที่สุจริตทุกชนิดล้วนแต่มีคุณค่าของตนเองทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นงานระดับล่าง เช่น เสมียน ภารโรง หรือพนักงานทำความสะอาด ต่างเป็นกลไกหนึ่งขององค์กร และทำงานในส่วนที่รับผิดชอบให้ดีที่สุดด้วยความขยันหมั่นเพียร การทำงานที่เท่ากับคนอื่นทำก็จะได้เท่ากับคนอื่น การทำงานจะต้องทำให้มีผลงานที่ดีและในวันหนึ่งก็จะเป็นที่ประจักษ์รับรู้ของบุคคลอื่นและเมื่องานที่เราทำได้รับการยอมรับ

(3) มองถึงคนอื่นที่ด้อยกว่าตนเอง เพื่อสร้างกำลังในการทำงานต้องคิดดูว่าเราโชคดี ที่ยังมีงานทำ ในขณะที่คนอื่นอีกจำนวนมากกำลังตกงานหรือหางาน การจะมองแต่บุคคลที่อยู่สูงกว่าเราก็อาจจะทำให้หดหู่ท้อถอย ดังนั้นการมองว่าคนอื่นที่ยากลำบากกว่าเราก็ยังมีอยู่มาก

(4) ทำใจให้รักกับงาน ถ้าคิดว่างานดูน่าเบื่อหน่าย ก็จะทำให้ไม่อยากจะทำงาน ดังนั้นจึงต้องคิดปรับปรุงและพัฒนางานให้ท้าทาย น่าสนใจ ว่าเราจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งถ้าหากทำได้สำเร็จก็จะเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่ก้าวข้ามความเบื่อหน่ายจากงานประจำ

หวังว่าคงจะเป็นข้อคิดให้สำหรับคนที่กำลังเซ็งและเบื่อหน่ายกับงานนะคะ และถ้าหากจะตัดสินใจลาออกจากงานจริง ก็เสนอให้ลาพักร้อน เพื่อใช้เวลาสำหรับการไตร่ตรองดูก่อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น