วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

หยิบของเก่ามาเล่าเรื่อง

ของเล่นสังกะสี





































ของเล่น






ขนม






ชั้น 1 ร้านของเล่น

เรือป๊อกแป๊ก






เรือป๊อกแป๊ก หรือที่ฝรั่งเรียก ต๊อก ต๊อก และคนญี่ปุ่นเรียก ปง ปง ถูกประดิษฐ์ขึ้นในอังกฤษเมื่อราว พ.ศ.2460 แล้วแพร่หลายออกไปทั่วโลกรวมทั้งเมืองไทยด้วย
เด็กไทยนิยมเล่นเรือป๊อกแป๊กกันมากในยุค 2490 -2500
วิธีการเล่น เริ่มแรกต้องกรอกน้ำใส่ท่อเสียก่อนแล้วจึงจุดเทียนไข ความร้อนจากเทียนไขจะทำให้น้ำในท่อและกระเปาะแบนๆหรือหม้อน้ำ ขยายตัวดันอากาศออกมาตามท่อ ส่งให้เรือแล่นไปอย่างน่าอัศจรรย์ใจได้


หุ่นยนต์








หุ่นยนต์หรือ robot เป็นหนึ่งในจินตนาการที่มนุษย์พยายามสร้างให้เป็นจริงตั้งแต่ฝากความคิดไว้ในหนังสือ ซึ่งแม้แต่วรรณคดีไทยก็ยังมีคำว่า “หุ่นพยนต์” ต่อจากนั้นก็ฝากไว้ในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์และฝากในรูปของเล่น จนกระทั่งเกิดหุ่นยนต์ที่สามารถใช้งานได้จริง
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีเป็นชาติที่ผลิตหุ่นยนต์ของเล่นออกมามากแต่หลังจากนั้น ญี่ปุ่นก็กลายเป็นผู้นำ มีการเอาแบตเตอรี่มาใส่ในหุ่นยนต์ และพิมพ์ตัวหุ่นด้วยสีสันที่สะดุดตาน่าเก็บ
คำว่า robot มาจากภาษาเช็ค robota ที่แปลว่า labour หรือกรรมกร

ชั้น 1 ร้านขายของจิปาถะ
กระป๋องนมผงตราหมียุค 2500
ยุค 2500 มีนมตราหมีแบบผงเข้ามาขายในเมืองไทย ปรากฏว่านมแบบนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาก เวลาจะเปิดฝา ต้องเอากุญแจที่ติดมากับกระป๋อง หมุนแถบโลหะรอบกระป๋องออก แล้วใช้ช้อนที่ให้มาตักชงกับน้ำร้อน
ฉลากนมผง เป็นรูปวัวกินหญ้า มี 2 แบบคือ สีฟ้าเป็นแบบหวาน และสีเหลืองแดงเป็นแบบจืด
กระป๋องนมผง มีทั้งใหญ่และเล็ก แต่ขนาดที่ใช้กันมากคือขนาดกลาง รูปทรงกระบอกผอมสูง เมื่อตักนมออกจนหมดแล้ว นิยมใช้กระป๋องซึ่งทำด้วยอลูมีเนียมบางเบาแช่น้ำในตู้เย็นดื่ม ส่วนฉลากสวยๆ มักหลุดลอกเมื่อล้าง

ชั้น 2 คลองโพรามา
คือกระต่ายที่ใช้วิธีตอกตะปูลงไปบนแผ่นไม้สี่เหลี่ยมขนาด 1 ศอก แล้วตัดหัวตะปูออก
กระต่ายแบบนี้ใช้ขูดมันเทศทำขนมกวนได้ดี เพราะขูดได้ร่วนกำลังเหมาะ วิธีขูดคือตัดมันเทศเป็นท่อนๆมาขูดในแนวตั้ง

ชั้น 2 ห้องทั่วไป
ขวดน้ำมะเน็ด
สมัยเก่า(ด้านหลัง)และสมัยปัจจุบัน(ด้านหน้า)

น้ำอัดลมรุ่นแรกที่เข้ามาเมืองไทยสมัย ร.4 ได้แก่น้ำโซดา น้ำมะนาวอัดลม
สมัย ร.5 มีการตั้งโรงงานทำน้ำแข็งในกรุงเทพฯ และน้ำอัดลมก็ค่อยๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้น ชาวบ้านเรียกน้ำมะนาวอัดลมว่า น้ำมะเน็ด คือแผลงมาจากคำว่า เลโมเนด(lemonade)

หลอดดูดกาแฟชุบเทียนไข
เป็นหลอดกาแฟยุค 2500 ทำด้วยกระดาษชุบเทียนไข มักมีลายเกลียวประกอบในเนื้อกระดาษให้ดูสวยงาม
หลอดชนิดสั้น(ในรูป) บ้านพิพิธภัณฑ์ซื้อจากร้านขายของเก่าที่นครชัยศรี
หลอดชนิดยาว ได้จากคุณบริบูรณ์ จันทร์เพ็ญ ซึ่งเติบโตในตลาดศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง คุณบริบูรณ์ เป็นรุ่นพี่ชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ เมื่อได้ยินผมพูดถึงหลอดกาแฟแบบเก่า จึงกลับไปค้นหาที่บ้าน พบว่ามีหลงเหลืออยู่ 6 หลอด จึงเอามาบริจาคพร้อมของอื่น

กลักยาอม
ยาอมที่ขายในเมืองไทยและเป็นที่รู้จักกันมากได้แก่ยาอมตราเสือของเองอันต๋อง, ยมอมโบตัน ของค่ายโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด และยาอมของบริษัทเยาวราช จำกัด ซึ่งชื่อหลังใช้ว่า “หมากหอมเยาวราช”
ยมอมอีกยี่ห้อหนึ่งที่เคยเป็นที่รู้จักกันคือยาอมกามัน ของบริษัทเทวกรรมโอสถ แต่ยมอมกามันหายไปจากเมืองไทยนานแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทเทวกรรมโอสถยังทำขายอย่างเป็นล่ำเป็นสันอยู่คือ “น้ำมันมวย”
การบรรจุยาอม มีทั้งใส่ในซองกระดาษทั้งเล็กและใหญ่, ใส่ในกลักแบนๆ ที่มีฝาเลื่อน (ยาอมตราเสือ, ยาอมโบตัน), ใส่ในกลักที่มีบานพับปิดเปิดแบบหนังสือ (ยาอมกามัน,ยาอมโบตัน) กลักรุ่นเก่า เดิมเป็นโลหะ ต่อมากลายเป็นกลักพลาสติก
กล่องหรือกระป๋องกระดาษขนาดใหญ่สำหรับใส่ซองหรือกลักรวมๆกันหลายชิ้น ก็ออกแบบกันได้สวยๆ

ของจากปากีสถาน
เอนก นาวิกมูล ซื้อจากปากีสถานเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2548
ปากีสถานอยู่ทางปีกซ้ายตอนเหนือของอินเดีย มีเมืองหลวงชื่ออิสลามาบัด มีแม่น้ำสำคัญคือแม่น้ำสินธุ มีเมืองสำคัญเช่นการาจี ราวัลปินดี ละฮอร์ การเดินทางจากเมืองไทย ใช้เวลาบินราว 4-5 ชั่วโมง
เมื่อผู้เขียนไปเยี่ยมท่านทูตพิษณุ จันทร์วิทัน ที่ปากีสถาน ได้ซื้อของที่เห็นว่าแปลกตามาเก็บในบ้านพิพิธภัณฑ์ เช่น ขวดน้ำอัดลม, หมวกแขก, กล่องน้ำผลไม้, กระบอกฉีดยุง, แป้งตราแมวของปากีสถาน, สบู่ และยาสีฟัน
ของใช้ที่ชวนให้ฉงนใจคือคนโทสำหรับใส่น้ำล้างก้นซึ่งมีใช้กันทั่วไปทั้งตามบ้านเรือน สถานที่ราชการ และโรงแรมทั่วไป น่าสังเกตว่าแม้บนโรงแรมระดับห้าดาว ก็ไม่มีสายฉีดน้ำอย่างเมืองไทย หากวางคนโทพลาสติกแบบที่ซื้อมานี้ให้ใช้แทน
คนโทใส่น้ำล้างก้นราคาราว 35 บาท

รถจิ๊ปเด็ก
การสร้างรถสำหรับเด็ก ไม่ว่ารถจักรยานสองล้อ รถสามล้อ หรือรถยนต์ มักมีคู่กับรถสำหรับผู้ใหญ่เรื่อยมา เพราะเด็กๆ มักใฝ่ฝันอยากขับรถเรือเล่นเช่นผู้ใหญ่บ้างเหมือนกัน
รถจิ๊ปโก้หรูขนาดนั่ง 1 คนแบบนี้ เคยมีเล่นกันในยุค 2490 และยุคต่อๆมาก็ยังมีการผลิตกันอยู่บ้าง สีรถมักเป็นสีเขียวขี้ม้า หรือสีแดงน้ำตาล
การขับเคลื่อน เด็กๆ ต้องใช้เท้าถีบข้อเหวี่ยงข้างล่างเพื่อส่งแรงไปหมุนล้อเหมือนถีบจักรยานนาวา เมื่อจะให้เลี้ยวซ้ายหรือขวา ก็หมุนพวงมาลัยแบบรถผู้ใหญ่

รูปยาซิกาแร็ต
ในสมัยรัชกาลที่ 5-8 บริษัทยาสูบต่างประเทศได้พิมพ์ภาพสวยๆแถมมาในซองบุหรี่และกระป๋องบุหรี่หลายร้อยชุด มีทั้งแบบสี่เหลี่ยมผอมๆ วงกลม และวงรี แต่ส่วนใหญ่นิยมทำแบบสี่เหลี่ยมผอมๆ ปรากฏว่าเป็นที่นิยมสะสมกันทั่วโลก แม้ในเมืองไทยก็มีการพิมพ์ภาพดังว่าด้วยหลายสิบชุด โดยชุดหนึ่งๆ มีภาพราว 25 หรือ 50 ใบ แต่แถมมาซองหรือกระป๋องละ 1 ใบ นักสะสมเรียกภาพชนิดนี้ว่า “รูปยาซิกาแร็ต” หมายถึงรูปแถมของบุหรี่(cigarette)
รูปยาซิกาแร็ตที่พิมพ์รูปไทยๆโดยตรง ได้แก่ชุด วรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ - ขุนช้างขุนแผน
– พระอภัยมณี – ราชาธิราช – มวยไทย – พยัญชนะไทย – นางงามสยาม – ดาราภาพยนตร์ - อาชีพต่างๆ

ชั้น 3 ห้องนายอำเภอ
ภาพพิมพ์พระบรมสาทิสลักษณ์ 7 รัชกาล
คุณสุรจิต เศารยะเสน บริจาค
เป็นภาพพิมพ์ที่มีความคมชัด สีสันสดใสสวยงามบริบูรณ์มาก พิมพ์ในราวยุค 2470
การพิมพ์ภาพพระมหากษัตริย์เพื่อให้ประชาชนได้ติดบูชา มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

สารกรมธรรม์ หนังสือสัญญาขายตัวเป็นทาส พ.ศ.2424

ได้รับบริจาคจากนักสะสมซึ่งไม่ขอออกนาม
ระบบทาสมีในเมืองไทยมาแต่โบราณ แต่ ร.5 ทรงเลิกทาสได้สำเร็จโดยเริ่มลงมือลดทอนการเป็นทาสไปเรื่อยๆนับแต่ พ.ศ.2417 จนถึง ร.ศ.124 หรือ พ.ศ.2448 จึงทรงออกประกาศเลิกทาสได้สำเร็จ
เป็นแบบฟอร์มที่ตีพิมพ์ลงบนกระดาษขนาดฟุลสแกป แสดงว่ายังมีการขายตัวเป็นทาสกันมาก จากแบบฟอร์มและข้อความที่ได้อ่าน ทำให้ทราบว่านี่แหละคือหน้าตาของ “สารกรมธรรม์” ซึ่งอ่านว่า สาน-กรม-มะ-ทัน ที่พบบ่อยในหนังสือเก่าๆเวลาพูดถึงทาส เปิดพจนานุกรมดูก็ได้คำอธิบายสั้นๆแต่ว่า
“หนังสือสำคัญที่ขายตัวเป็นทาสรับใช้การงานต่างๆ”

ตลาดริมน้ำตึก 2

ร้านทอง
ภาพถ่าย นางกิมอิ้ด -นายคอย แซ่ลี้ กับบุตร คือ ด.ช.สุมิตร อิทธิศาสตร์ ถ่ายร่วมกันเมื่อ พ.ศ.2493 ภาพจากคุณอุศา อิทธิศาสตร์

น้ำอัดลมคอสโค-COSCO
คอสโคอยู่ในเครือแลคตาซอย ,คิกก้าปู้ มีทั้งรสโคคา น้ำแดง น้ำเขียว และน้ำแอปเปิล
น้ำคอสโคที่จริงก็อร่อยดี และขวดก็ออกแบบได้สวยไม่แพ้น้ำอัดลมยี่ห้ออื่น แต่จำหน่ายอยู่ได้ไม่กี่ปีก็หายไปจากตลาดเมืองไทย
น้ำอัดลมสีแดง และน้ำองุ่น แม้จะเก็บอยู่ในที่มืด ต่อมาก็ซีดจางกลายเป็นน้ำใสๆหมด คงเหลือที่ไม่เปลี่ยนสี ก็น้ำรสโคคาสีดำ

ของแจกของแถม
ของแจกของแถมในสมัย ร.5-6 ได้แก่ ปฏิทิน ถ้วยชากาแฟ จาน แก้วน้ำ
ในโฆษณาเก่าๆ จะเห็นว่าเมื่อใกล้ขึ้นปีใหม่(สมัยก่อน ไทยขึ้นปีใหม่เดือนเมษายน จนถึง พ.ศ.2483 จึงเริ่มนับ 1 มกราคม พ.ศ.2484 เป็นวันขึ้นปีใหม่) ห้างบางห้างจะประกาศว่าให้ไปซื้อของที่ห้าง มีแถมปฏิทินด้วย
บริษัทห้างร้านที่ชอบแถมถ้วยและจานรองที่มีตราของตนประดับอยู่ได้แก่ บริษัทผลิตนม และเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ เช่น นมตราแหม่มทูนหัว นมตราหมี นมตราเด็ก
ร้านทอง - ชอบแถมจานหรือถ้วยที่มีรูปนางงาม (ไทยเริ่มจัดประกวดนางงามเมื่อ พ.ศ.2477 โดยช่วงแรกๆใช่ว่านางสาวสยาม จนถึง พ.ศ.2482 จึงเปลี่ยนเป็นนางสาวไทยตามการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย)
บริษัทน้ำอัดลม -ชา-กาแฟ-สบู่ –ผงซักฟอก แถมแก้วน้ำที่พิมพ์ตราไว้บนแก้วนั้น

ตลาดริมน้ำ - ร้านบุญส่งพานิช
มีดเหลาดินสอขนาดเล็ก
มีดเหลาดินสอยุค 2500-2510 ไม่ทราบแหล่งผลิต มีเสน่ห์ตรงมีภาพน่ารักๆพิมพ์บนตัวด้ามแบนๆซึ่งทำด้วยสังกะสีหลายลาย
มีดแบบนี้มีสองขนาดคือ ขนาดสั้น ราคา 25 สตางค์ กับขนาดยาว ราคา 50 สตางค์

ถ่านไฟฉายตรากบ กับกระป๋องออมสินตรากบ
เอนก นาวิกมูลซื้อถ่านไฟฉายเมื่อ พ.ศ.2531
ถ่านไฟฉายตรากบเริ่มจำหน่ายเมื่อใดไม่ทราบ แต่เพลงโฆษณาซึ่งแต่งและร้องโดยครูนคร มงคลายน( ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อ พ.ศ........) ถือเป็นเพลงโฆษณาที่ยอดเยี่ยมประทับใจคนยุค 2500 มากที่สุดเพลงหนึ่ง เพราะนอกจากจะมีท่วงทำนองสนุกสนานน่าฟังแล้ว ยังใช้คำสัมผัส แม่กบ ลงท้ายอย่างเหมาะเจาะ ยากที่จะมีใครคิดได้ดีเท่า

ตลาดริมน้ำ - ร้านขายของริมน้ำ
เตียงนอนของกุมาร
เตียงนอนขนาดเล็กน่ารักของกุมาร ทำด้วยไม้เนื้อเบา และผ้าสีสันฉูดฉาด เอนกซื้อจากร้านวุฒิชัย ตลาดลาดชะโด อ.ผักไห่ จงพระนครศรีอยุธยา เมื่อไปเที่ยว พฤ22 ธค2548 เจ้าของร้านผู้หญิงทำขายเอง มี 2 ขนาดคือเล็กและใหญ่
แสดงความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับการเลี้ยงผีอย่างหนึ่ง บางคนเชื่อว่ากุมารช่วยทำให้การค้าขายดีขึ้น

เตาน้ำมันก๊าด ยุค 2500
ช่วง พ.ศ.2505 ซึ่งคนไทยยังไม่รู้จักเตาแก๊ส และยังคงใช้เตาถ่านกันทั่วไป มีการโฆษณาขายเตาชนิดหนึ่งที่ทำด้วยโลหะ มีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา ราคาไม่แพงเกินไปนัก เตาแบบนี้เมื่อเติมน้ำมันก๊าด และจุดไฟแล้วสามารถใช้หุงต้มได้
หลักฐาน เทียบได้จากโฆษณาขายเตาน้ำมันก๊าดตรามงกุฎในนิตยสารแม่ศรีเรือน วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2505 ที่ผมเคยนำลงในหนังสือโฆษณาคลาสสิค
โฆษณานั้นบอกว่า “หุงต้มด้วยน้ำมันก๊าศ ตรามงกุฎ” มีขายที่ปั๊มเชลล์ และร้านค้าทั่วไป ราคาเตาละ 25 บาท
บ้านพิพิธภัณฑ์ได้เตาสีฟ้า ตรามงกุฎ มาจากบ้านลุงสมัคร หง์ทอง จ.ราชบุรี ก่อน 1 ใบ ต่อมาก็ซื้อเตาสีส้มชมพู มาได้อีก 1 ใบ เป็นเตายี่ห้อ STAX ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน


Credits http://houseofmuseums.siam.edu/page3_2.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น